เทคนิคสอนเจ้าตัวเล็ก "นั่งขับถ่าย"

Last updated: 6 พ.ค. 2563  |  4060 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เทคนิคสอนเจ้าตัวเล็ก "นั่งขับถ่าย"

การฝึกให้เด็กนั่งขับถ่ายนับว่าเป็นพัฒนาการอีกอย่างหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยให้การสนับสนุนในเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากเด็กบางคนได้รับการฝึกเร็วก่อนวัยอันสมควร ส่งผลให้เด็กกลัวการขับถ่ายไปโดยปริยาย ในขณะที่เด็กบางคนเริ่มต้นช้าเกินไปจนไม่สามารถขับถ่ายได้ด้วยตนเอง ดังนั้นสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังจะเริ่มสอนลูกน้อยควรจะต้องเรียนรู้เทคนิคเพื่อช่วยให้การฝึกเจ้าตัวเล็กนั่งส้วมผ่านไปได้อย่างประสบความสำเร็จ

รู้ได้อย่างไร…ว่าเจ้าตัวเล็กพร้อมเรียนรู้การนั่งส้วม?

แม้จะไม่มีเกณฑ์บังคับตายตัวว่าคุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มฝึกลูกน้อยให้นั่งส้วมหรือกระโถนตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่โดยทั่วไปแล้วช่วงเวลาทองของการฝึกให้เด็กขับถ่ายด้วยตนเอง คือ ช่วงอายุประมาณ 1 ขวบครึ่งถึง 2 ขวบครึ่ง ซึ่งลูกน้อยจะพร้อมสำหรับการฝึกหรือไม่นั้น เบื้องต้นคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมต่อไปนี้

  • ลูกสามารถเข้าใจและตอบสนองต่อคำสั่งขั้นพื้นฐานได้ เช่น “หนูปวดฉี่หรือเปล่า”  “หนูต้องการเข้าห้องน้ำหรือเปล่า” เป็นต้น
  • ลูกสามารถสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ได้ด้วยตัวเองผ่านคำพูดหรือสีหน้าว่าต้องการเข้าห้องน้ำ กรณีนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตกิริยาท่าทางของลูกอยู่เป็นประจำ
  • ลูกมีความสนใจกระโถน ส้วม หรือการสวมใส่กางเกงใน และเมื่อปวดเข้าห้องน้ำ ลูกจะเริ่มดึงผ้าอ้อมสำเร็จรูปออกเพื่อไปนั่งกระโถน
  • ลูกสามารถนั่งยองได้เอง

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าเวลาเริ่มฝึกเจ้าตัวเล็กเป็นสิ่งสำคัญพอๆ กับวิธีการฝึก คุณพ่อคุณแม่บางท่านรีบถอดผ้าอ้อมสำเร็จรูปออกและพาลูกไปนั่งส้วมทันที ทั้งๆ ที่เด็กยังไม่คุ้นชิน หรือโถส้วมอาจมีขนาดใหญ่เกินไปสำหรับเด็ก หรือเด็กยังนั่งทรงตัวไม่ได้ หากคุณพ่อคุณแม่รีบเร่งฝึกเร็วเกินไปเช่นนี้ อาจทำให้ลูกยิ่งกลัวและเครียดกับการนั่งส้วม จนทำให้เกิดการอั้นขับถ่ายหรือปัญหาเรื้อรังอื่นๆ ตามมาได้ และโปรดจำว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรกดดันเจ้าตัวเล็ก ควรให้เด็กสนุกกับการเข้าห้องน้ำ… เด็กแต่ละคนมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน การฝึกเร็วไปจะทำให้ยิ่งฝึกยากมากขึ้นไปกว่าเดิม

คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมความพร้อมอย่างไร?

นอกจากความพร้อมของเจ้าตัวเล็กแล้ว คุณพ่อคุณแม่เองก็สามารถเตรียมอุปกรณ์ที่จะช่วยให้การนั่งส้วมหรือกระโถนของลูกน้อยราบรื่นมากยิ่งขึ้นได้เช่นเดียวกัน อุปกรณ์ที่อาจช่วยในการฝึกสอนประกอบไปด้วยสิ่งต่อไปนี้

  • กระโถนสีสันสดใส ลวดลายน่ารัก ขนาดพอเหมาะกับก้นเล็กๆ  ก่อนการฝึกให้ลูกนั่งส้วมแบบผู้ใหญ่ การฝึกเด็กให้ใช้กระโถนก่อนก็เป็นความที่ดี โดยเฉพาะกระโถนที่ลูกๆ ชอบย่อมมีส่วนช่วยสำคัญให้การฝึกสอนสนุกและน่าสนใจมากขึ้น
  • ที่รองเหยียบ ช่วยให้เด็กก้าวถึงโถส้วมของผู้ใหญ่ และใช้เป็นที่วางเท้าให้เด็กเหยียบได้
  • แผ่นรองก้นบนโถส้วม ช่วยให้โถส้วมของผู้ใหญ่นั่งได้สบายขึ้นสำหรับลูกน้อย
  • ห้องน้ำสะอาด ที่ไม่มีของเล่น หรือหนังสือ

เทคนิคสอนเจ้าตัวเล็กนั่งส้วม

วิธีการฝึกให้เด็กนั่งส้วมและสามารถขับถ่ายด้วยตนเองแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้

  • ให้ลูกนั่งบนโถส้วมที่มีแผ่นรองก้นขนาดพอดีกับก้นของเด็ก โดยเท้าต้องเหยียบเต็มพื้นและระดับหัวเข่าสูงกว่าสะโพก กรณีนี้อาจต้องใช้ที่รองเหยียบมาวางเสริมเท้าของเด็กเพื่อไม่ให้แกว่งไปมา
  • นั่งในท่าข้อศอกแตะหัวเข่า และเอนตัวมาด้านหน้าเล็กน้อย ซึ่งการนั่งในท่านี้จะทำให้ลำไส้ส่วนปลายตั้งตรงกับรูทวาร อุจจาระจึงไหลลงมาได้ง่ายขึ้น
  • ฝึกให้ลูกหายใจเข้าเต็มท้อง เน้นว่าลมต้องเข้าท้อง โดยให้เด็กวางมือไว้บริเวณท้องและหายใจเข้าจนท้องป่องก่อนจะกลั้นลมหายใจเอาไว้
  • เบ่งลงก้นและคลายหูรูดทวารหนัก ลมจากท้องจะช่วยดันอุจจาระให้ผ่านรูทวารลงสู่โถส้วมได้อย่างง่ายดาย

คำแนะนำและข้อควรระวังในการฝึกการขับถ่ายให้ลูกน้อย

ไม่แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ใช้ของเล่นหรือหนังสือนิทานหลอกล่อลูกระหว่างนั่งส้วม เพราะการฝึกนั่งส้วมจะต้องใช้สมาธิ ถ้าให้ลูกน้อยสนใจของเล่นหรือหนังสือนิทาน อาจทำให้กลายเป็นนั่งแช่หรือนั่งเบ่งอยู่บนส้วมจนนานเกินไปจนอาจนำไปสู่การเป็นริดสีดวงได้ ทั้งนี้อาจรอให้ลูกปวดมากขึ้นอีกหน่อยก่อนจะพามานั่งส้วม เมื่อพอนั่งแล้วลูกจะเบ่งได้เต็มที่และถ่ายทันที

  • อธิบายทุกอย่างให้ลูกน้อยฟังอย่างชัดเจนและสนุกสนาน ให้เจ้าตัวเล็กคุ้นเคยกับโถส้วม กระโถน และห้องน้ำ
  • ถ้าเด็กเกิดอาการกลัว คุณพ่อคุณแม่สามารถแสดงเป็นตัวอย่างด้วยการลองนั่งส้วมและชักโครกให้ลูกได้เห็นว่าไม่มีอะไรน่ากลัว
  • เด็กควรขับถ่ายอย่างน้อย 3 ครั้งต่ออาทิตย์ ไม่จำเป็นต้องถ่ายทุกวัน คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเร่งรัดให้ลูกถ่ายด้วยวิธีจับสวนหรือกินยาระบายทันที การสวนหรือกินยาระบายแบบสุ่มสี่สุ่มห้าอาจนำไปสู่การเป็นแผลในลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย เจ็บทวารหนัก ทำให้เด็กกลัวการนั่งส้วมไปอีกนานกว่าเดิม
  • สำหรับเด็กเล็กที่หูรูดเกร็งจนไม่สามารถขับถ่ายได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้วิธีนวดหน้าท้อง โดยการนวดเป็นรูปตัวยูคว่ำ เริ่มจากด้านขวาของท้องเด็ก ขึ้นมาที่สะดือ และลงไปด้านซ้ายล่าง เพื่อกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่บีบตัวไปตามแนวนวด และอุจจาระจะเคลื่อนที่ตามแรงนวดเช่นกัน
  • ช่วยให้อุจจาระของลูกนิ่มและขับถ่ายได้ง่ายขึ้นด้วยการให้ลูกดื่มน้ำส้ม น้ำลูกพรุน นม และเสริมผักผลไม้มีกากใยอย่างพอประมาณ รวมถึงทานข้าวให้ครบ 3 มื้อ
  • คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าสังเกตร่างกายของลูก หากลูกมีแผลตรงทวารหนัก ขับถ่ายเป็นเลือด นั่งส้วมยากเกินเหตุ หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ควรรีบพาลูกมาพบกุมารแพทย์ทันที

สุดท้ายนี้ การฝึกลูกน้อยต้องอาศัยเวลา ส่วนใหญ่ใช้เวลา 1-3 เดือน บางรายอาจยาวนานถึง 6 เดือน ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะใช้เคล็ดลับใดก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคุณพ่อคุณแม่ควรฝึกสอนลูกน้อยให้นั่งส้วมในเชิงบวก ต้องอาศัยความอดทนและใจเย็น อย่ากดดันลูก แต่เน้นการเชียร์ การให้กำลังใจ และการชมเชยยิ้มแย้มเป็นหลัก เพื่อให้ลูกน้อยสนุกและมีความสุขกับการปลดทุกข์… ซึ่งเป็นวิถีธรรมชาติ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก samitivejhospitals.com

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้